ความหมายของจิตวิทยาแนวพุทธ
จิตวิทยาแนวพุทธ คือ การนำศาสตร์ที่ศึกษาถึงจิตใจและกระบวนการทางจิตใจคือจิตวิทยา มาอธิบายกระบวนการการเกิดทุกข์และการพ้นทุกข์ อันเป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนานั้นเอง
ความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาแนวพุทธ จิตวิทยาทั่วไป และพุทธศาสนา
จิตวิทยาทั่วไป หมายถึง การศึกษาพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน และสังเกตเห็นได้โดยทางอ้อม ตลอดจนการศึกษากระบวนการทำงานของจิตเพื่อการปรับตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ไม่ได้มีเป้าหมายให้พ้นทุกข์อย่างถาวร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของจิตวิทยาแนวพุทธ
พุทธศาสนารวมถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวาง ทั้งยังรวมไปถึงความเชื่อถือ และการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธด้วย
ขณะที่จิตวิทยาแนวพุทธ จะนำบางส่วนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะส่วนแก่นกลางที่กล่าวถึงความทุกข์ทางใจ กระบวนการเกิดและดับของความทุกข์ทางใจ โดยอาศัยคำอธิบายของกระบวนการทางจิตใจที่ใช้กันอยู่ในจิตวิทยามาประยุกต์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจสำหรับคนในยุคปัจจุบัน ที่คุ้นเคยกับจิตวิทยา
ความหมายของคำว่า "สุข" และ "ทุกข์" ทางใจ
ความสุข หมายถึง การที่เราได้รับความพึงพอใจ ความสมหวังจากสิ่งต่าง ๆ รอบด้าน เช่น สุขเพราะได้อยู่กับความที่รักหรือถูกใจ สุขเพราะได้ทำงานที่ถูกใจ สุขจากการรอดภัยอันตราย หรือเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมานาน เป็นต้น
ความทุกข์ หมายถึง สิ่งที่เราได้รับไม่เป็นที่พึงพอใจของเรา หรือการสูญเสียสิ่งที่ไม่อยากให้เสียไป เนื่องจากความทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา และพยายามหลีกเลี่ยง จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการศึกษาและเอาชนะ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาหรือศาสนาต่าง ๆ
ความทุกข์ใจ ในทางจิตวิทยาเป็นภาวะยุ่งยากทางจิตใจ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวลความรู้สึกผิด ละอายใจ ความท้อแท้สิ้นหวัง เป็นต้น ความทุกข์นี้เกิดจากการปรับตัวไม่ได้ หรือเสียสมดุลย์โดยอาจเกิดจาก
- ปัจจัยภายใน เช่น ความแปรปรวนในความคิด
หรือภาวะอารมณ์ของเราเอง
- ปัจจัยภายนอก เช่น การสูญเสียสิ่งรัก
การประกอบความผิดหวัง การเผชิญภาวะวิกฤติต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน อาชีพ การทำงาน ครอบครัว
ทำให้เกิดความคิดและความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ความยุ่งยากเหล่านี้อาจเป็นภาวะชั่วคราวของการปรับตัว หรือกลายเป็นความผิดปกติทางจิตใจ
ในทางจิตวิทยา ภาวะเป็นสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าจะมีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดก็ตาม ในที่สุดจะมีจุดร่วมที่เกี่ยวข้องกัน หรือมีสาเหตุจาก
- ความคิดทางลบ
- ความรู้สึกเครียดที่สะสมในจิตใจ
ความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์
ทางจิตวิทยาจัดอยู่ในกลุ่มความคิดทางลบ เช่น คิดแต่สิ่งที่ สูญเสีย คิดอยู่แต่กับอดีต มองโลกในแง่ร้าย กลัวการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
ความรู้สึกที่ทำให้ทุกข์ใจมีลักษณะร่วม คือ เป็นความเครียดของจิตใจ เมื่อคนเราเผชิญความกดดันต่าง ๆ รอบตัว ทั้งเรื่องที่รับรู้ว่าเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เมื่อประกอบกับความคิดทางลบที่ได้กล่าวมาแล้ว ความรู้สึกเครียดจะสะสมกลายเป็นความวิตกกังวล หรือนานไปก็กลายเป็นความท้อแท้สิ้นหวัง และซึมเศร้าในที่สุด
สาเหตุที่ทำให้แต่ละคนมีความอ่อนไหวภายในตนเอง จนเกิดความคิดทางลบและความรู้สึกเครียด เกิดจาก
- พันธุกรรม
- ปมในจิตใจที่สะสม
มาจากวัยเด็ก
เมื่อคนเรามีทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดจากความคิดหรือความรู้สึกก็ตาม จะพยายามที่จะขจัดความทุกข์เหล่านั้น แนวคิดทางจิตวิทยาได้เสนอกระบวนการพัฒนาตนเอง เพื่อจัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดย
1. การจัดการกับอารมณ์ โดยใช้เทคนิคต่างๆ ในการคลายเครียด เช่น
- การหายใจ
- การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- การจินตนาการ
เพื่อให้ความรู้สึกนั้นมันออกจากตัวเรา และเกิดอารมณ์ทางบวก ในลักษณะของความสงบและผ่อนคลายเข้ามาแทนที่
2. การจัดการกับความคิด โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ให้เป็นคิดทางบวก (Positive Thinking)
ตัวอย่าง เช่น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ที่สูญเสียฐานะและกิจการเกิดความทุกข์ใจ เพราะมองแต่ด้านที่ตนสูญเสียไป ก็ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ว่างานยังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง เช่น มีเวลาให้กับตนเองและครอบครัวเพิ่มขึ้น หรือเหตุการณ์นั้นทำให้ได้เรียนรู้บทเรียนเพื่อจะปรับปรุงสิ่งบกพร่องต่อไป
การพัฒนาตนเองแนวจิตวิทยาทั้ง 2 วิธีนั้น สามารถช่วยบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้มีความคิดความรู้สึกที่เบาบางได้ แต่ไม่ใช่วิธีดับทุกข์ เพราะยังไม่ได้เน้นให้หยั่งรู้ถึงความเป็นจริงว่า "สิ่งใดก็ตามเมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับไป" จนสามารถปล่อยวางทั้งในเรื่องนั้นและเรื่องอื่น ๆ ได้ ดังนั้นการพัฒนาตนเองแนวจิตวิทยาดังกล่าว ยังไม่สามารถทำให้เกิดการพ้นทุกข์ หรือพบกับความสุขที่ยั่งยืน บางคนอาจสงสัยว่า อะไรคือวิธีการที่ทำให้พ้นทุกข์ อะไรคือความสุขที่ยั่งยืน
ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า "ทุกข์" ในทางพุทธศาสนาหมายถึงอะไร
ความหมายของคำว่า “สุข และ “ทุกข์” ในทางจิตวิทยาแนวพุทธ
ความสุขทางโลกในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นความทุกข์เนื่องจากความไม่ยั่งยืน ซึ่งเรียกว่า "กามสุข" หมายถึง ความสุขที่เกิดจากความใคร่ ความอยาก และความปรารถนาทั้งหลาย อันเนื่องจาก "วัตถุกาม" คือ ความสุขจากภายนอก อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่น่าใคร่ น่าพอใจ เช่น สุขจากการได้ใช้ทรัพย์สมบัติไปกิน ดื่ม เที่ยว สุขจากการเสพเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น ส่วน "กิเลสกาม" คือ ความสุขจากการได้ตามความต้องการภายใน เช่น ความพอใจว่าตนมีฐานะชื่อเสียง เป็นต้น
"กามสุข" ไม่ว่าจาก "วัตถุกาม" หรือ "กิเลสกาม" ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะยั่งยืน หรืออยู่กับเราตลอดไป ดังจะเห็นได้จากโลกธรรม 8 ที่กล่าวไว้ว่า
มีลาภ ก็ต้อง เสื่อมลาภ
มียศ ก็ต้อง เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ ก็ต้อง มีนินทา
มีสุข ก็ต้อง มีทุกข์
ดังนั้น สุขจาก "กามสุข" จึงเป็น "ความทุกข์" ทั้งสิ้น เพราะเป็นสุขที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีใครสามารถมีได้ เก็บได้ไว้กับตัวตลอดชีวิต หรืออีกนัยหนึ่ง
- ความสุข ก็คือ
ภาวะที่มีทุกข์น้อย
- ความทุกข์ ก็คือ
ภาวะที่มีความสุขน้อย
ความทุกข์ในพุทธศาสนามุ่งเน้นเรื่องความทุกข์ทางใจ เพราะความทุกข์ทางกายเป็นเรื่องธรรมชาติ แม้พระพุทธองค์ก็ป่วยกาย และเมื่อเจ็บป่วยรุนแรงก็ต้องมีแพทย์ (เช่น หมอชีวกโกมารภัจจ์) คอยถวายการรักษา แต่ทุกข์ทางใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งขณะที่มีทุกข์ทางกายหรือไม่มีก็ตาม
ทุกข์ทางใจนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ในหลักปฏิจจสมุปบาทว่า เมื่อมีกระบวนการทางจิตที่เป็นสาเหตุ ทุกข์ทางใจที่จะเกิดขึ้นก็คือ
- โสกะ (ความเศร้าโศกใจ ความแห้งใจ)
- ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน)
- ทุกข์ (ทุกข์กายที่มีสาเหตุจากทุกข์ใจ
เช่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ฯลฯ)
- โทมนัส (ความเสียใจ)
- อุปายาส (ความคับแค้นใจ ความอึดอัดใจ)
ซึ่งอาจสรุปให้เข้ากับอาการของความทุกข์ใจในทางจิตวิทยา เป็น 3 ประเภท คือ
1. ความทุกข์ภายในจิตใจ เช่น กลุ้มใจ เครียด ขุ่นมัว ท้อแท้ ซึมเศร้า น้อยใจ พยาบาท เป็นต้น
2. ความทุกข์ที่แสดงออกภายนอก เช่น ร้องไห้ คร่ำครวญ พูดดุด่า เป็นต้น
3. ทุกข์กายเนื่องจากทุกข์ใจ เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ท้องอืด เป็นต้น
สำหรับสาเหตุของความทุกข์นั้น มีรายละเอียดอยู่ในบทที่ 4 เรื่อง ญาณสุข การเจริญสติปัญญาทางธรรมเมื่อเผชิญทุกข์ แต่ในที่นี้ขอสรุปได้สั้นๆ ว่า ทางพุทธศาสนาเน้น สังขาร (ความคิดที่ถูกปรุงแต่งด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเกิดจาก อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ทำให้เกิดตัณหา คือความทะยานอยากที่ผลักดันให้คนเราคิด รู้สึกทุกข์ และปฏิบัติที่เป็นปัญหากับตนเองและหรือผู้อื่น ดังนั้น การแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งทุกข์ คือ ความทะยานอยาก หรือความคิดปรุงแต่งด้วยกิเลส จึงเป็นการสร้างความสุขที่ยั่งยืน
อะไรคือความสุขที่ยั่งยืน
พุทธศาสนา ได้แบ่งความสุขไว้ 3 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 กามสุข
ซึ่งถือว่าเป็นทุกข์นั้นเอง
- ระดับที่ 2 ฌานสุข
คือสุขสม
- ระดับที่ 3 ญาณสุข
คือสุขจากการปล่อยวาง
ความสุขในระดับที่ 1 หรือกามสุข เป็นความสุขทางโลก ซึ่งทางพุทธศาสนาจัดว่าเป็นความทุกข์ แต่เป็นทุกข์น้อย หรือสุขที่ไม่ยั่งยืน พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นความทุกข์ได้
การที่จะดับทุกข์ จึงประกอบด้วยการดับทุกข์ชั่วคราว โดยการสร้างความสงบทางจิตใจด้วยการทำสมาธิ ความสุขที่ปราศจากกิเลสชั่วคราวนี้หรือ
ความสุขในระดับที่ 2 เรียกว่า ฌานสุขหรือสุขสงบ ซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าความสุขทั่วไปทางโลก แต่เป็นความสุขชั่วคราวระหว่างอยู่ในสมาธิ และมีผลต่อไปอีกระยะหนึ่งหลังออกจากสมาธิ
แต่ถ้าหากคนเรายังมีความคิดที่ถูกปรุงแต่งด้วยความโลภ โกรธ หลง มีความทะยานอยากในจิตใจแล้ว ความทุกข์ใจย่อมเกิดขึ้นอีก ดังนั้น
ความสุขในระดับที่ 3 คือ จึงเป็นการรู้เท่าทันความทะยานอยากและความคิดปรุงแต่งด้วยกิเลสของตัวเรา ทำให้สามารถควบคุมความคิดปรุงแต่ง และปล่อยวางไว้ในที่สุด นั่นก็คือ ญาณสุข หรือสุขจากการปล่อยวาง ซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าและยั่งยืนกว่าความสุขทางโลก และเป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน หากบุคคลนั้นสามารถเจริญสติที่จะรู้ตัว และรู้เท่าทันตัณหาและสังขารของตนได้
โดยสรุป ความสุขที่ยั่งยืนก็คือ สุขในระดับที่ 2-3 นั่นเอง ดังนั้นการพัฒนาตนเองทางจิตวิทยา และการการพัฒนาตนเองทางจิตวิทยาแนวพุทธ จะแสดงได้ดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้ ตารางที่ 1 เปรียบเทียบจิตวิทยาและจิตวิทยาแนวพุทธ
จิตวิทยา
|
จิตวิทยาแนวพุทธ
|
|
ทุกข์
|
ทุกข์ทางใจจากสาเหตุต่าง ๆ
|
ทุกข์ทางใจ เช่นเดียวกับจิตวิทยา แต่จัดความสุขทางโลกว่าเป็นความทุกข์ด้วย
|
สาเหตุ
|
ทั้งเหตุภายนอกและภายใน แต่สรุปรวมที่ความคิดทางลบและความรู้สึกเครียดในจิตใจ
|
ความคิดที่ปรุงแต่งด้วยความโลภ โกรธหลง จนกลายเป็นความทะยานอยาก
|
การแก้ไข
|
แก้เฉพาะทุกข์ทางใจ โดยเน้นการผ่อนคลายความรู้สึก การคิดทางบวกและอื่น ๆ
|
ให้หลุดจากทั้งทุกข์และสุขทางโลกโดยเน้นสมาธิให้เกิดความสงบสุขและการเจริญสติให้เกิดการปล่อยวาง
|
ไม่มีความคิดเห็น:
โพสต์ความคิดเห็น